หน้าแรก
Home
เกี่ยวกับเรา
About Us
บทความ
Articles
หนังสือแนะนำ
Books
หลักสูตร
Inhouse Courses
สมาชิก
Member
ติดต่อเรา
Contact Us
Upper
Assessment
 

กรุณาระบุอีเมล์ของท่าน
เพื่อรับข่าวสารจากเรา
 






search

Training and Seminar

Articles
Innovation To Go สไตล์ Google Share
By รศ.ดร.ธีรยุส วัฒนาศุภโชค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Published Date 2 กันยายน 2551

Innovation To Go สไตล์ Google
รศ. ดร. ธีรยุส วัฒนาศุภโชค
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

      
นับถึงวันนี้ คงยากจะหานักเล่นอินเตอร์เน็ตที่ไม่รู้จักกูเกิลนะครับ เนื่องจากกูเกิลถือว่าเป็นเว็บไซต์ที่ทรงพลังที่สุดเว็บหนึ่งในโลกไซเบอร์ เรียกว่า จะค้นหาข้อมูลใด รูปภาพที่ไหน ถ่ายภาพโลเกชันใดๆในโลกเป็นต้องนึกถึงกูเกิลมาก่อนเสมอ รวมถึงมีการให้บริการกูเกิลเอิรธ์ที่โด่งดัง สามารถทำให้ทุกแห่งหนบนโลก ไม่เป็นแดนสนธยาที่มืดดำอีกต่อไป    อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในเว็บท่า (Portal Web) ที่โด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยคำว่าเว็บท่านั้นเปรียบเสมือนท่าเรือที่นักท่องเน็ตทุกท่านต้องมาแวะจอด ก่อนที่จะทะลุทะลวงผ่านไปยังเว็บอื่นๆต่อไป ซึ่งกูเกิลตอนนี้ทำได้ดีมาก ไม่เพียงเว็บแม่ของกูเกิลเอง แต่ www.gmail.com ที่นำเสนอฟรีเมลล์ให้กับทุกคน ก็กำลังสร้างความนิยมไม่น้อยกว่า Hotmail หรือ Yahoo เลย เรียกว่าเขย่าบัลลังก์เจ้าแห่งผู้ให้บริการฟรีเมลล์กันเลยทีเดียว และกูเกิลเองก็ยังไม่หยุดยั้งในการสร้างสรรค์บริการใหม่ๆออกมาท้าทายสายตาชาวโลกอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องการเป็นแค่เพียงเจ้าแห่งสื่อในอินเตอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังขยับขยายไปยังธุรกิจสื่อครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นสื่อในเน็ต สื่อแบบดั้งเดิม ทั้งโทรทัศน์ บิลบอร์ด และ สื่ออื่นๆ เรียกว่าเอเยนซี่โฆษณาทั้งหลายต้องเหลียวหันมามองกูเกิลในยุคใหม่นี้กันทั้งสิ้น เพราะกำลังจะครอบครองทุกสื่อ ทุกช่องทางที่เข้าถึงตัวผู้บริโภคทุกคนอย่างครบวงจรทีเดียว

      
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่นำสู่ความสำเร็จของกูเกิลอย่างรวดเร็วแซงหน้าคู่แข่งมากขนาดนี้ ก็เพราะนวัตกรรมที่แตกต่างเป็นเอกลักษณ์ ที่กูเกิลพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จนคู่แข่งสารพัดรายถึงกับมีการวิเคราะห์กลยุทธ์การสร้างสรรค์นวัตกรรมของกูเกิลกันเลยว่า ใช้แนวทางใดถึงกระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ๆสร้างสรรค์ได้มากมายในเวลาอันสั้นครับ

      
กลยุทธ์ที่สำคัญของกูเกิล คือ
การที่กิจการปลูกฝังวัฒนธรรมด้านการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้กับบุคลากรทุกคนอย่างเหนียวแน่น โดยที่เห็นอย่างชัดเจนก็คือ นโยบายที่ผลักดันให้บุคลากรทุกคนใช้เวลาที่เหลือ 20% ในการทำงาน มาใช้ในการทำโปรเจคพิเศษนอกเหนือจากงานประจำของตน โดยโปรเจคนั้นๆ ต้องเป็นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ในการทำงานของกิจการ ซึ่งกิจการจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และ นำมาเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของแต่ละคนได้อีกด้วยซึ่งนโยบายดังกล่าว ทำให้ทุกคนในกิจการเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาไอเดียใหม่ๆให้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากตนเองเป็นพนักงานกูเกิล แต่ไม่กระตือรือร้นที่จะสร้างความแปลกใหม่เร้าใจที่แตกต่างให้เกิดขึ้นแล้ว ก็ยากที่จะเจริญรุ่งเรืองอยู่ในกิจการครับ ทำให้ทุกคนต้องพัฒนาตนเองอย่างไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็น บรรทัดฐานของคนในกูเกิลไปแล้ว

      
อย่างไรก็ตาม การที่กูเกิลมีโลเกชั่นหลักๆอยู่ถึงกว่า
50 แห่งกระจัดกระจายกันอยู่ ทำให้การพบปะหน้าตา เพื่อร่วมกันเป็นทีมงานสร้างสรรค์นวัตกรรม จึงทำได้ยากลำบากขึ้น แต่กูเกิลก็ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีการสื่อสารอยู่แล้ว จึงใช้สารพัดเทคนิคมาทดแทนได้อย่างไม่มีปัญหามากนักครับ

      
อีกกลยุทธ์หนึ่ง
ที่มีความสำคัญมากต่อการสร้างนวัตกรรมของกูเกิลก็คือ การเทคโอเวอร์หรือเข้าซื้อกิจการอื่นๆ เพื่อได้รับแนวคิดไอเดีย ทักษะ และ เทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาในกิจการ โดยดีลยักษ์ใหญ่ล่าสุด คือ ดับเบิลคลิก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจการด้านอีคอมเมอร์ซที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งเมื่อมาอยู่ภายใต้ชายคาของกูเกิลแล้ว ก็เท่ากับเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับกิจการได้อย่างมาก และ นำนวัตกรรมเข้ามาสู่กิจการได้ไม่น้อยทีเดียว    อย่างไรก็ตาม กูเกิล เน้นย้ำว่า การที่จะส่งเสริมนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น ควรมุ่งเน้นที่การเทคโอเวอร์กิจการที่ขนาดไม่ใหญ่โตนัก ซึ่งดีลขนาดใหญ่แบบดับเบิลคลิก คงไม่เห็นบ่อยครั้งนักนับจากนี้   โดยเหตุผลก็คือ กิจการขนาดเล็ก อย่างที่ทราบกันว่าก็มีความคล่องตัว ยืดหยุ่นค่อนข้างสูงกว่ากิจการขนาดใหญ่อยู่แล้วครับ มักจะรู้จักในชื่อที่เรียกว่า องค์กรแบบผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Organization) ซึ่งก็ทำให้มักมี นวัตกรรมเก๋ไก๋เปี่ยมศักยภาพแฝงอยู่ในกิจการลักษณะนี้อยู่ตลอดเวลา

      
อีกเหตุผลหนึ่งที่
กูเกิลเน้นการเทคโอเวอร์กิจการขนาดเล็กมากกว่า ก็เนื่องจากจะทำให้เกิดการผสมผสานถ่ายเทแนวคิดระหว่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจะถูกกลืนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิลได้อย่างไม่ยากเย็น แรงเสียดทานและการต่อต้านน้อยกว่า เพราะกิจการขนาดเล็กนั้น มักจะมีวัฒนธรรมที่อ่อนกว่าและมีแนวโน้มที่จะผสมกลมกลืนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกูเกิลได้ง่ายดายกว่ากิจการที่มีขนาดใหญ่ที่มีจำนวนพนักงานมาก ทำให้ลดความขัดแย้งด้านวัฒนธรรมที่แตกต่างกันระหว่างกิจการลงได้มากครับ

      
นอกจากนี้ ในกระบวนการของการเทคโอเวอร์นั้น กูเกิลจะไม่นิยมการเข้าซื้อแบบปรปักษ์ (HostileTakeover) เลย ซึ่งการเข้าซื้อลักษณะนี้ คือ การซื้อที่กิจการผู้ถูกซื้อไม่ยินยอมพร้อมใจ พยายามหลีกลี้หนีห่างผู้ไล่ล่าซื้อกิจการให้มากที่สุด และใช้ทุกวิถีทางในการต่อสู้ดิ้นรนจากการเทคโอเวอร์นั้น ซึ่งก็มักลงเอยด้วยการบาดเจ็บ ขัดแย้ง และสร้างรอยแผลเอาไว้ให้กับทั้งสองฝ่ายอย่างมากหลักจากการเข้าซื้อกิจการจบสิ้น ซึ่งกูเกิลไม่นิยมการเข้าซื้อกิจการแบบนี้เลย เพราะจะนำไปสู่ความยากลำบากในการผสมผสานสร้างความเป็นเอกลักษณ์ด้านนวัตกรรมต่อไปในภายภาคหน้าครับ อีกทั้งการเทคโอเวอร์แบบนี้ มักทำให้เกิดการลาออกของบุคลากรระดับมันสมองและผู้บริหารที่ดำรงตำแหน่งสำคัญๆของกิจการที่ถูกซื้อ ทำให้เกิดความสูญเสียไอเดียใหม่ๆ และลดศักยภาพของกิจการไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้    อีกทั้ง การถ่ายโอนความรู้ทักษะ และการผสมกลมกลืนกันระหว่างสองกิจการเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นครับและ ทีมเวอร์คของบุคลากรทั้งสองฝ่ายก็ยากที่จะเกิด นวัตกรรมจากการผสมผสานจุดเด่นของทั้งสองกิจการ ก็จะประสบความสำเร็จได้น้อยลงเช่นกันครับ ซึ่งเป็นการลดสัมฤทธิผลของการเทคโอเวอร์ดังกล่าว

      
ดังนั้น ในแต่ละเคสของกูเกิล นั้นมักจะเป็นการเทคโอเวอร์แบบเป็นมิตร (Friendly Takeover) มากกว่าซึ่งทำให้บุคลากรทั้งสองฝ่ายยินยอมพร้อมใจ และเต็มใจที่จะผสมกลมกลืนกัน เป็นหนึ่งเดียวกันในองค์กรของกูเกิล และในที่สุดก็จะถูกหล่อหลอมด้วยวัฒนธรรมของกูเกิล จนสร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างใจปรารถนาครับ     

      
ที่กล่าวมาเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่กูเกิลนำสู่ความสำเร็จด้านนวัตกรรมของตนเองนะครับ อาจจะลองพิจารณานำไปประยุกต์ใช้ดูบ้าง เพื่อผลักดันทุกกิจการของเราสู่ความเป็นองค์กรนวัตกรรมของเต็มภาคภูมิครับ


ที่มา
: ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันเสาร์ที่ 11 กรกฏาคม 2551




line